“เมื่ออายุผ่านเลยมาถึงช่วงเวลาหนึ่ง เราทุกคนต้องมองหาหนทางสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง” ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยสอนผมไว้แบบนั้น และมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ครับ
เพราะทุกวันนี้ เราจะเห็นคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน เริ่มต้นหาหนทางเพื่อสร้างความมั่งคั่งของตัวเองมากมาย ทั้งการลงทุนอย่าง หุ้น ทอง กองทุนรวม การวางแผนการเงินเพื่อใช้จ่ายด้านต่าง ๆ หรือแม้แต่การทำประกัน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการด้านการเงินในทุก ๆ ด้านของชีวิต
และหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เพื่อเติมเต็มชีวิตที่สมบูรณ์นั้น คือ การใช้เงินนั้นเพื่อมี “บ้าน” ของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินซื้อบ้านหนึ่งหลังนั้น ถือเป็นเงินก้อนใหญ่ในชีวิตของใครหลาย ๆ คน เพราะบ้านหนึ่งหลังก็ต้องใช้เงินเป็นหลัก “ล้าน” ดังนั้นกรุณาคิดให้ดีก่อนนะครับว่า “บ้าน” ที่เราต้องการจะมีนั้นเป็น สินทรัพย์หรือหนี้สิน กันแน่ อย่าลืมลองถามตัวเองนะครับว่า
“เราซื้อบ้านเพื่ออะไร”
ถ้าเราซื้อบ้านหนึ่งหลังเพื่ออยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวแบบนี้ บ้าน คือ “หนี้สิน” แถมยังมีรายจ่ายที่ตามมาจนชินชา เช่น ค่าซ่อมแซม ค่าจัดการดูแลรักษา
แต่ถ้าเราซื้อบ้านนั้นมาเพื่อสร้างรายได้ด้วยการ “ปล่อยเช่า” หรือ “เก็งกำไร” เพื่อขาย บ้านหลังเดียวกันนี้อาจจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่ทำให้เกิดรายได้และกระแสเงินสดกลับมาในทุก ๆ เดือน
ดังนั้น…บ้านเป็นได้ทั้งสองอย่าง ทั้ง “สินทรัพย์” และ “หนี้สิน” แต่ถ้ามีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน แน่นอนครับว่า ตัวเรานี่แหละที่มีหนี้เกิดขึ้นแล้วครับ เมื่อมีหนี้ขึ้นมา ก็ต้องมีการจัดการบริหารหนี้สินให้ดี อย่าให้ชีวิตมีปัญหา ไม่อย่างนั้นเกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นมา ความภาคภูมิใจที่มีบ้านอาจจะกลายเป็นดอกเบี้ยบานเพราะต้องผ่อนจนหมดตัว!
แต่ในมุมของภาษี @TAXBugnoms อยากบอกครับว่า การซื้อบ้านนั้นมีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะทำให้เราสามารถประหยัดภาษีได้อีกต่อหนึ่งโดยการใช้ “ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม” มาเป็นตัวช่วยในการลดภาระภาษีที่เราต้องจ่ายได้เหมือนกันครับ
เจ้า “ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม” ที่ว่านี้ คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยกฎหมายภาษีที่เรียกว่า “ประมวลรัษฎากร” กำหนดให้คนกู้ซื้อบ้านทั้งหลาย สามารถหักลดหย่อนเงินตามที่จ่ายไปจริง เป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องทำตามเงื่อนไขหลัก 5 ข้อ ดังต่อไปนี้ครับ
- ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศ เช่น ธนาคารต่าง ๆ
- ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเองหรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
- ทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้เป็นหลักประกันในการกู้ (จำนอง)
- ต้องอยู่อาศัยในปีนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ให้ครบปี ดังนั้นกู้เมื่อไรก็ให้ใช้สิทธิลดหย่อนได้ทันที
- หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนได้ทุกแห่งแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านในชื่อของเราคนเดียว เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มที่สูงสุดถึง 100,000 บาท แต่ถ้าเป็นการกู้ร่วมหลายคน ตรงนี้ต้องแบ่งดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกันให้ถูกต้องนะครับ เพราะประมวลรัษฎากรได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ว่า
“กรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน
แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท”
แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท”
นั่นหมายความว่า ถ้าคนสองคนตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกู้บ้านร่วมกัน โดยมีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายไปทั้งปีจำนวน 120,000 บาท สองคนนั้นก็จะสามารถแบ่งดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้สูงสุดจากเงิน 100,000 บาท หรือคิดเป็นคนละ 50,000 บาทเท่านั้นครับ!
แต่นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงที่เรามีภาระเงินกู้บ้านนั้นยังไม่พอครับ กฎหมายยังใจดียกเว้นภาษีให้ตอนที่เราคิดจะขายบ้านด้วย โดยยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ในกรณีที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 ปี หรือถือครองทรัพย์สิน (กรณีที่ไม่มีทะเบียนบ้าน) เกินกว่า 5 ปี อีกต่อหนึ่งครับ
ดังนั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่เราควรนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อบ้านนั่นคือ เรื่องของการวางแผนภาษี เพราะถ้าเราเลือกได้ดีและเลือกได้ถูกต้อง ก็รับสิทธิในการประหยัดภาษีไปแบบฟรี ๆ เลยครับ
สุดท้ายนี้ สำหรับคนที่อยากจะมีบ้าน หรือคนที่กำลังมีบ้านอยู่ นอกจากเรื่องภาษีและการเงินแล้ว อย่าลืมที่จะดูแลความรักความอบอุ่นในบ้านไปพร้อม ๆ กันด้วยนะครับ เพราะนั่นคือ “ความสุข” ที่ไม่ว่าเงินมากแค่ไหนก็ไม่สามารถซื้อได้อย่างแน่นอนครับ
cr.krungsri